ส่วนประกอบของผ้าไตรนั้น พื้นฐานสุดคือสามารถรวมเป็นผ้าไตรได้ จะต้องมีผ้า 3 ชิ้น ตามความหมายของ ไตร ที่แปลว่า 3 ดังที่ทราบแล้ว นั่นคือ ต้องมี จีวร, สบง และสังฆาฏิ หากมีผ้าอย่างน้อย 3 ชิ้นนี้แล้ว เราก็สามารถเรียกเป็นผ้าไตรได้ แต่ท่านสังเกตไหมว่า ผ้าไตรที่มีจำหน่ายหรือขายอยู่ในท้องตลาดนั้น จะมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน และเราจะสามารถแบ่งเป็นประเภทของผ้าไตรได้ 2 แบบหลักๆคือ ผ้าไตรครองและผ้าไตรอาศัย
- ผ้าไตรครอง หรืออาจเรียกกว่า ไตรเต็ม ไตรครบชุด จะเป็นไตรที่พระใช้สำหรับสวมครอง เป็นผ้าผืนหลักและผืนเดียวสำหรับพระในการนุ่งครอง โดยในส่วนประกอบของไตรครองจะมี 7 อย่างด้วยกันคือ
- จีวร เป็นผ้าที่ใช้สำหรับห่ม หรือที่เราเห็นพระทั่วไปท่านสวมครองไว้ เวลาประกอบศาสนกิจ หรือเมื่อได้รับกิจนิมนต์
- สบง คือผ้าที่ใช้สำหรับนุ่ง คล้ายๆ กางเกงสำหรับพระ แต่การนุ่งจะนุ่งคล้ายกระโปรงมากกว่า เป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยม โดยมากนิยมผ้าฝ้ายเพราะมีความทนทาน ขาดยาก และใช้งานได้ยาวนาน
- อังสะ คือผ้าที่ใช้สำหรับสวม คล้ายเสื้อตัวใน แต่เป็นผ้าสวมเบี่ยงที่บ่าด้านหนึ่ง พระท่านจะสวมไว้ภายในตลอด บางครั้งมีกระเป๋าเล็กใส่ของ
- สังฆาฏิ คือผ้าผืนใหญ่เหมือนจีวร ใช้สำหรับวางทาบที่บ่าหรือพาดที่บ่า หรือใช้ห่มซ้อนอีกชั้นป้องกันความหนาว แต่ในบ้านเรานิยมนำมาพับแล้ววางทาบที่บ่า หรือพาดบ่า จึงอาจเรียกว่าผ้าพาดบ่า
- ผ้ารัดอก คือผ้าที่ใช้สำหรับรัดรอบเอวหรืออก โดยเฉพาะถ้ามีการใช้ผ้าสังฆาฏิพาดบ่า เพื่อให้กระชับและไม่เกะกะ
- รัดประคต คือสายรัดเหมือนเข็มขัด ส่วนมากจะทำจากไนลอน ใช้คาดทับสบง แล้วมัดที่เอว ให้กระชับแน่น สบงไม่หลุด
- ผ้าประเคน คือผ้าที่ใช้สำหรับพระใช้รับประเคนหรือถวายสิ่งของ โดยเฉพาะกับญาติโยมที่เป็นผู้หญิง
- ผ้าไตรอาศัย หรืออาจเรียกว่า ไตรแบ่ง คือไตรที่ใช้สำหรับเปลี่ยนสวมครองสำหรับพระ จะเป็นชุดไตรที่มีส่วนประกอบเพียง 3 ชิ้น คือ จีวร สบง และอังสะ
หากท่านต้องการที่จะทำบุญเพื่อซื้อผ้าไตรถวายพระสงฆ์ ก็ควรจะทราบสักเล็กน้อยเกี่ยวกับผ้าไตร ดังที่ได้กล่าวมา ว่าไตรที่จะซื้อนั้น เป็นไตรครองหรือไตรอาศัย เพื่อจะได้ซื้อได้อย่างถูกต้องและทราบราคาที่เหมาะสม